วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พลิกตำนาน... ว่าวไทย


เมื่อฤดูร้อนมาเยือน กิจกรรมหรือการละเล่น เพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่งของเด็กและผู้ใหญ่ ที่ได้รับความนิยมกันมาก ในทุกภาคของประเทศไทยเสมอมา ก็คือ “การเล่นว่าว” หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 13กล่าวถึงการเล่นว่าวไว้ว่า “ปรากฏหลักฐานการเล่นว่าวว่า มีมาแต่กรุงสุโขทัย เป็นว่าวที่ส่งเสียงดัง เวลาลอยอยู่ในอากาศ เรียกว่า “ว่าวหง่าว” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏตามหลักฐานของชาวต่างประเทศว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดเวลาระยะ 2 เดือน…” และยังกล่าวว่า “ว่าวเป็นกีฬาที่เล่นกันอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสยาม” และในสมัยพระเพทราชา เคยใช้ว่าวในการสงคราม โดยผูกหม้อดินบรรจุดินดำเข้ากับสายป่านว่าวจุฬาข้ามกำแพงเมือง แล้วจุดชนวนให้ระเบิดไหม้ เมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ”
จากหลักฐานข้างต้น แสดงให้เห็นว่าชาวไทยรู้จักการเล่นว่าว มาไม่ต่ำกว่า 700 ปีแล้ว “ว่าว” จึงถือเป็นผลผลิตหนึ่ง ที่เกิดจากภูมิปัญญาของช่างฝีมือพื้นบ้านไทย ในแต่ละท้องถิ่นที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว มาประดิษฐ์สร้างสรรค์ เป็นของเล่นให้แก่ลูกหลาน หรือใช้เล่นกันในเวลาว่างจากการทำงาน ดังนั้น องค์ความรู้ในการทำว่าว จึงนับเป็นมรดกตกทอด ที่บรรพบุรุษของเรา ได้คิดค้นและถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน ในแต่ละท้องถิ่น ชุมชน หรือบุคคล ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ปัจจุบันเหลือช่างฝีมือพื้นบ้านที่ชำนาญการทำว่าวน้อยลงมาก อาจเนื่องจากความนิยมในการเล่นว่าวลดลง และขาดผู้สืบทอด ส่งผลให้ภูมิปัญญาในการทำว่าวบางประเภท ใกล้สูญหายไป

ไม่มีความคิดเห็น: